30 ปี สุสานหิ่งห้อย: Grave of The Fireflies

ในบรรดาผลงานอันยอดเยี่ยมของ Studio Gibli ภาพยนตร์เรื่อง “Grave of The Fireflies” หรือชื่อไทยว่า “สุสานหิ่งห้อย” ยึดครองความทรงจำของผมเอาไว้มากที่สุด

อัตชีวประวัติของ อะคิยูกิ โนซากะ ถูกดัดแปลงเป็นภาพเคลื่อนไหวด้วยลายเส้นอันเป็นเอกลักษณ์

ท่ามกลางเสียงระเบิด ควันไฟ และเครื่องบินรบในสงครามโลกครั้งที่ 2 หนังเล่าเรื่องของพี่น้องคู่หนึ่งที่ต้องระหกระเหินเพื่อเอาชีวิตรอดให้ได้

“เซตะ” ผู้เป็นพี่ แบกน้องสาววัย 4 ขวบ “เซซึโกะ” ไว้แนบหลัง

ในวันที่บ้านเรือนถูกไฟสงครามเผาราบเป็นหน้ากลอง อาหารขาดแคลน เขาพบที่มั่นสุดท้ายเป็นเหมืองเก่าที่สกปรกและมืดมิด แต่อย่างน้อยในเวลาเช่นนั้น มันก็คุ้มฟ้าคุ้มฝนเอาไว้ได้ สองพี่น้องมีทางเลือกเดียวคือต้องรอด

ที่นั่น น้องสาวกลัวความมืด พี่ชายจึงหาหิ่งห้อยให้มากที่สุดมาปล่อยในอุโมงค์เล็กๆ เพื่อให้มันมีแสงสว่าง

หิ่งห้อยคือแสงสว่างของเซซึโกะ ส่วนน้องสาวคือแสงสว่างของเซตะพี่ชาย อันที่จริง เธอและเขาคือแสงสว่างของกันและกัน

แต่นานวันเข้า เด็กหญิงก็เริ่มเจ็บป่วยเพราะขาดสารอาหาร เซตะผู้พี่ทำทุกวิถีทางเพื่อทำให้น้องสาวพ้นจากความอดอยากหิวโหย ไม่เว้นแม้กระทั่งการขโมย หรือฝ่าเสียงระเบิดไปควานหาอาหารในบ้านคน

บนที่นอนซอมซ่อ เด็กหญิงนอนรออาหารด้วยลมหายใจรวยริน เซตะกลับมาพร้อมแตงโมหนึ่งลูก พี่ชายผ่าแตงโมบิใส่ปากน้องสาว พร้อมกับยัดแตงโมอีกซีกให้เธอกุมเอาไว้แนบอก

“ขอบคุณนะเซตะ” ประโยคอันแผ่วเบาของน้องสาวกระซิบเสียงถึงพี่ชาย

แตงโมชิ้นนั้นคือมื้อสุดท้ายของเซซึโกะ หลังออกไปหุงข้าว เซตะกลับมาพบว่าผู้เป็นน้องสาวหลับไป และไม่ตื่นมาอีกเลย

ท่ามกลางคืนฝน พี่ชายนอนกอดร่างน้องสาวไว้ทั้งคืน ก่อนรุ่งเช้าเธอถูกย้ายที่นอนไปอยู่ในกล่องใบเล็ก ไฟจากมือพี่ชายเปลี่ยนน้องสาวให้เหลือเพียงเถ้ากระดูกและความทรงจำ

Grave of The Fireflies มีชื่อภาษาญี่ปุ่นว่า Hotaru no Haka หนังออกฉายครั้งแรกเมื่อปี 1988 นับถึงปีนี้ครบ 30 ปีพอดี และระหว่างนี้ ไฟสงครามก็สร้างความหิวโหยให้กับเด็กๆ มากมายบนโลก ทั้งที่เรามองเห็นและแสร้งมองไม่เห็น

เป็นนักเขียนเพียงคนเดียวของเว็บไซต์นี้ (แหงละ) เป็นมนุษย์ที่ชอบบันทึกเรื่องราวเอาไว้ เนื่องจากไม่ถนัดในการจดใส่กระดาษ จึงมักเขียนไว้ในโลกออนไลน์ บางเรื่องผิด บางเรื่องถูก แต่บันทึกความทรงจำจะช่วยตักเตือนเรา