นาฬิกาเรือนนั้นเดินถอยหลังไปข้างหน้า

1.

“เราเคยนอนห้องเดียวกัน” การพบกันครั้งล่าสุดเธอพูดประโยคนี้ขึ้นมา ผมตอบว่า “ใช่” แล้วเรื่องราวความหลังต่างๆ ก็เริ่มพรั่งพรู

“สุลิยง ลักขษร” เป็นเพื่อนที่เรียนมาด้วยกันที่โรงเรียนบ้านสนตั้งแต่ ป.1 ถึง ม. 3 นับนิ้วมือซ้ายขวาพบว่าเราอยู่ด้วยกันถึง 9 ปีเชียว

อยู่ด้วยกันนานๆ ย่อมต้องมีเรื่องเล่า

เด็กหญิงสุลิยง ลักขษร เป็นเด็กเรียนดี โชคดีที่ผมมีเพื่อนเป็นเด็กเรียนดี และเป็นผู้หญิงเสียมาก นั่นจึงทำให้ผมสามารถกันตัวเองออกจากความห่าม ทะโมน เกกมะเหรกเกเรของเพื่อนเด็กผู้ชายได้ สุลิยงเป็นหนึ่งในเพื่อนที่เรามัก เรียน เล่น และทำงานด้วยกันอยู่เสมอ

ผมโชคดี

เด็กหญิงสุลิยง เป็นศิษย์รักของครูบาอาจารย์ ด้วยนิสัยเรียบร้อยดังผ้าพับไว้ เธอว่านอนสอนง่าย พูดจามีสัมมาคาราวะ ส่วนผมเป็นพวกผ้าพับไว้เช่นกัน แต่ผิดตรงที่ดันลืมรีดให้เรียบร้อย มันจึงเป็นการจัดเก็บแบบอีเหลกเขกขะ ไม่สมบูรณ์เท่าไหร่นัก

ด้วยความที่เป็นเด็กเรียนดี ขณะอยู่ชั้น ป.4 ผมกับเธอถูกคัดเลือกให้ไปสอบแข่งขันคณิตศาสตร์ระดับจังหวัด เธอตื่นเต้นหรือเปล่าไม่รู้ แต่ผมตื่นเต้นมาก เหตุผลไม่ใช่เพราะต้องไปแข่งขันอะไร แต่เป็นเพราะนี่คือครั้งแรกในชีวิตที่จะได้เข้าไปในตัวจังหวัดกับเขาเสียที

ครูชาตรี พบบุญ เป็นครูผู้ดูแลทีมแข่งขันวิชาคณิตศาสตร์ ราวกับการเก็บตัวนักกีฬา ตอนเย็นครูนัดผมกับสุลิยงให้มาเก็บตัวที่บ้านพักครู

นายสุพิน โพธิสาร ผู้เป็นพ่อปั่นจักรยานจากไร่มาส่งผมที่บ้านพักครู พ่อตื่นเต้นที่ผมต้องไปแข่ง สัมผัสได้จากการถามตลอดทางว่าไอ้การแข่งเนี่ยมันเป็นอย่างไร แข่งกับใคร ที่ไหน เขาถามอะไร แล้วจะตอบว่าอย่างไร คำถามจากพ่อหล่นเรี่ยราดเต็มรายทาง

2.

ที่บ้านพักครู ผมต้องอ่านหนังสือ ต้องติวเพิ่มเติม เพื่อให้พร้อมสำหรับการแข่งขันที่สุด แต่สิ่งที่ผมจดจำกลับไม่ใช่สูตรคณิตศาสตร์ใดๆ

ทุกครั้งที่นึกถึงเรื่องนี้ผมกลับนึกถึงตำราเชาว์คณิตศาสตร์กับการคิดนอกกรอบ เช่น ถ้าจุดเทียน 1 เล่มสามารถอยู่ได้ 10 นาที หากจุดเทียน 15 เล่มพร้อมกันจะอยู่ได้กี่นาที?

ผมคำนวณคำตอบตามสูตรเป๊ะคือ 10×15=150 นาที หรือ 2.30 ชั่วโมง

ครูชาตรีเฉลยว่า “ผิด” เพราะถ้าจุดเทียนพร้อมกันก็อยู่ได้ 10 นาทีเท่าเดิม ดีไม่ดีความร้อนจากเทียนแต่ละเล่มที่เลียเผาซึ่งกันและกันอาจทำให้ระยะเวลาสั้นกว่านั้น!

เราจบการติวด้วยคำถามเชาว์คณิตศาสตร์ ผมยังคงอึ้งกับคำตอบไม่หาย นี่มันไม่มีในตำราเรียน นี่มันอัลไล?

เริ่มดึก ถึงเวลานอน ผมกับสุลิยงนอนห้องเดียวกัน ครูนอนอีกห้องนึง เป็นแบบนี้อยู่หลายคืนจนถึงวันแข่งขัน

3.

นึกถึงเรื่องนี้ผมก็นึกถึงครูชาตรี พบบุญ มีวิธีคิดและวิธีการที่น่าสนใจ นี่คือครูที่มีความเป็นครีเอทีฟสูงมากที่สุดตั้งแต่ผมพบเจอ นี่ตั้งแต่เรียน ป.1 จนจบมหาวิทยาลัยปี 4 ผมยังไม่พบว่ามีใครใต่ไปถึงมาตรฐานการเรียนการสอนที่ครีเอทีฟขนาดนี้มาก่อน

การเรียนที่มีเกมมาให้เล่นหน้าเสาธง มีประกวดวาดรูป เขียนกลอน เขียนเรียงความ สร้างสรรค์งาน ตามโจทย์ที่เปลี่ยนไปทุกสัปดาห์ ที่หน้าเสาธงมีโจทย์ประจำสัปดาห์ติดไว้ ข้างๆ กันมีกล่องรับคำตอบ และทุกวันศุกร์แต่ละกล่องก็จะเต็มไปด้วยกระดาษคำตอบของเด็กๆ ที่ร่วมเล่นสนุก ก่อนที่วันจันทร์ผลการแข่งขันจะถูกประกาศหน้าเสาธง อันเป็นเวลาที่นักเรียนใจจดใจจ่อที่สุด ของรางวัลเป็นดินสอ สมุด ยางลบ เล็กๆ น้อยๆ ทว่ามีคุณค่าทางใจยิ่งนัก

เมื่อประกาศผลเสร็จอาจารย์ก็จะเปลี่ยนโจทย์ประจำสัปดาห์ใหม่ เป็นอย่างนี้ครั้งแล้วครั้งเล่า แน่นอนว่าเด็กชายโกวิท โพธิสาร กับ เด็กหญิงสุลิยง ลักขษร เทียวสอยรางวัลครั้งแล้วครั้งเล่า

นี่ยังไม่นับเรื่องกีฬา แนวทางการสอน ความเป็นผู้นำและผู้ตาม เป็นครูหนุ่มที่มาปลุกไฟให้โรงเรียน ว่ากันในหมู่เพื่อนฝูงด้วยกัน ยกให้ครูชาตรีเป็นครูที่ยอดเยี่ยมที่สุดตั้งแต่โรงเรียนบ้านสน ต.สะเดา อ.บัวเชด จ.สุรินทร์ เคยมีมา

4.

โรงเรียนบ้านสนเป็นโรงเรียนขยายโอกาส นั่นหมายถึงเปิดสอนตั้งแต่ ป.1-ม.3

เมื่อจบ ม.ต้น มันถึงเวลาที่ต้องแยกย้าย แม้ผมกับเพื่อนหลายคนยังไปเรียนต่อ ม.ปลายด้วยกัน แต่กับนางสาวสุลิยง ลักขษร เราเริ่มห่างหายกันไปตั้งแต่ช่วงนั้น “ครูชาตรี พบบุญ” ก็เช่นกัน

ไม่กี่วันมานี้ ผมกลับไปโรงเรียนเก่าครั้งแรกในรอบหลายปี

แม้จะเป็นโรงเรียนในละแวกหมู่บ้าน แต่เนื่องจากไม่อยู่ในรัศมีของการย่างก้าว จึงทำให้ผมไม่ได้ย่างกรายไปที่นั่นเท่าไหร่นัก

มันเป็นยามบ่ายที่เงียบเหงา อาจเพราะโรงเรียนเลิกเร็ว ผมไปถึงพร้อมกับความคิดที่หอบหิ้วพะรุงพะรัง ที่นั่น “สุลิยง ลักขษร” กลับมาอีกครั้งในฐานะครู ส่วนผมกลายเป็นแขก เธอนัดแนะให้พบกับผู้อำนวยการโรงเรียนคนใหม่

“ครูภาณุวัฒน์ แป้นจันทร์” ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านสน เขาเป็นพี่ชายของเพื่อนผม เป็นพี่ชายของรุ่นน้อง และเขาเป็นครูเก่าผมขณะอยู่ ม.ปลาย ใช้มอเตอร์ไซค์ YAMAHA JR-S รุ่นเดียวกัน แม้ไม่ได้สอนกันโดยตรงเนื่องจาก ครูภาณุวัฒน์สอนวิชาเคมี ส่วนผมเรียนเมเจอร์ศิลป์ กระนั้นก็รู้จักคุ้นหน้าคุ้นตากันเป็นอย่างดี

เราคุยถึงความหลังหลายต่อหลายเรื่อง ถามไถ่สารทุกข์สุกดิบ แลกเปลี่ยนแผนการความฝันซึ่งกันและกัน

“ครูจะทำผ้าป่า หาทุนซ่อมแซมอาคารเรียน” ผอ.โรงเรียนบอกกับผม

“ผมจะทำแค้มป์หนังสั้น กับเว็บไซต์โรงเรียน” ผมบอกกับพี่ชายของเพื่อน คนเดียวกับที่เป็นกับผู้อำนวยการโรงเรียนนั่นแหละ

เราต่างตอบรับยินดีในกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นร่วมกัน

พูดคุยกับ ครูภาณุวัฒน์ เสร็จสรรพ “ครูสุลิยง ลักขษร” พาผมเดินชมโรงเรียน ขณะลั่นชัตเตอร์มุมนั้นที มุมนี้ที เธอก็พูดประโยคนี้ขึ้นมา

“เราเคยนอนห้องเดียวกัน”

IMG_9056

ห้องสมุดในปัจจุบัน

ห้องสมุดในปัจจุบัน

IMG_9069

IMG_9075

IMG_9083

IMG_9087

IMG_9090

IMG_9093

IMG_9097

"สุลิยง ลักขษร" เธอบอกว่าไมชอบถ่ายรูป

“สุลิยง ลักขษร” เธอบอกว่าไมชอบถ่ายรูป

IMG_9113 IMG_9114

ภาณุวัฒน์ แป้นจันทร์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านสน

ภาณุวัฒน์ แป้นจันทร์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านสน

IMG_9132 IMG_9161

อาคารเรียนที่โดนพายุกระหน่ำจนต้องระดมทุนซ่อมแซม

อาคารเรียนที่โดนพายุกระหน่ำจนต้องระดมทุนซ่อมแซม

IMG_9213

IMG_9221

IMG_9250

IMG_9264

IMG_9268

IMG_9288

เป็นนักเขียนเพียงคนเดียวของเว็บไซต์นี้ (แหงละ) เป็นมนุษย์ที่ชอบบันทึกเรื่องราวเอาไว้ เนื่องจากไม่ถนัดในการจดใส่กระดาษ จึงมักเขียนไว้ในโลกออนไลน์ บางเรื่องผิด บางเรื่องถูก แต่บันทึกความทรงจำจะช่วยตักเตือนเรา