“ทนายอู๊ด” วิบูลย์ บุญภัทรรักษา บิดาบังเกิดเกล้าของ “ไผ่ ดาวดิน”

อายุ 61 ปี มีลูก 2 คน และลูกความอีกนับไม่ถ้วน ทำหน้าที่ทนาย อยู่ในกลุ่มเพื่อนพ้องพี่น้องกับทองใบ ทองเปาด์ ทนายความ นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ ซึ่งได้รับรางวัลแมกไซไซ

การว่าความให้กับชาวบ้านทั้งคดีทั่วไป และสิทธิชุมชน ทำให้คุ้นชินกับระบบตาชั่งแห่งกฎหมายไทยมายาวนาน บางอย่างเขาชื่นชม บางจังหวะเขาส่ายหัว

นอกจากความเชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ยังเก่งกาจเรื่องดนตรี โดยเฉพาะเครื่องบรรเลงของอีสานที่เล่นได้เกือบทุกชนิด

ผมถามว่า ระหว่างเขากับลูกชายใครเล่นดนตรีได้เก่งกว่ากัน เขาไม่สู้ยอมรับนักว่าตัวเองอ่อนด้อยหรือเหนือกว่า

“ถ้าเป็นตอนนี้ มันต้องเก่งกว่าผมอยู่แล้ว แต่ถ้าผมยังหนุ่มแน่น มันก็กินผมไม่ลง”

การหอบลูกติดสอยห้อยตามไปคลุกคลีเรื่องคดีความตั้งแต่เกิด ทำให้ลูกชายของเขานอกจากซึมซับและเชี่ยวชาญเรื่องดนตรีอีสานแล้ว ยังหลงรักตัวบทกฎหมายและเสรีภาพเหมือนผู้เป็นพ่อ

“ตอนเด็กผมให้มันเลือกเองเลยนะว่าจะเล่นอะไร มีเครื่องดนตรีหลายอย่างให้เล่น มันดันเลือกเล่นแคน ซึ่งยากที่สุดในบรรดาเครื่องดนตรีอีสาน

ตอนมันเลือกเรียนนิติศาสตร์ ผมก็ไม่เคยบังคับให้มันต้องเลือกเส้นทางแบบนี้ เป็นความชอบของมันล้วนๆ ทั้งเรียนกฎหมาย ทั้งช่วยชาวบ้าน ลงชุมชนมันก็เป็นของมันเอง”

หลายปีมานี้เขาว่าความน้อยลงเพราะปัญหาสุขภาพ เขารอดจากมะเร็งระยะ 3 ตอนปลายด้วยการจ่ายค่ารักษาพยาบาล 30 บาท

แม้อาการจะดีขึ้นจนน่าพอใจแล้ว แต่ไม่ได้ทำให้เขามีเวลาทำงานเพิ่ม เนื่องจากต้องขึ้นโรงขึ้นศาลอยู่เป็นนิจในฐานะพ่อของลูกชายที่หลงรักปีกแห่งเสรีภาพอย่างหัวปักหัวปำ

“ทำไมไม่ว่าความให้ลูกชายเอง” ผมถาม

“ในหลักการทางกฎหมายแล้วทำได้ แต่ในฐานะพ่อที่ต้องว่าความให้ลูกนั้น มันกดดันมาก เพราะเขาไม่ใช่แค่ลูกความของผม แต่เขาเป็นลูกชาย

การว่าความด้วยสถานการณ์แบบนี้กดดันเกินไปเพราะเราอยู่ในสภาวะที่แพ้ไม่ได้ มันกดดันมหาศาล” เขาตอบ

22 สิงหาคม เป็นอีกครั้งที่ลูกชายของเขาต้องขึ้นศาลทหาร ผมพูดคุยกับเขาในเช้าวันนั้น ก่อนเดินทางไปค่ายศรีพัชรินทร์ จ.ขอนแก่น ที่นั่นลูกชายของเขาถูกยานพาหนะติดกรงขังลำเลียงตัวจากเรือนจำขึ้นสู่การต่อสู้คดี

นี่คือ “ทนายอู๊ด” วิบูลย์ บุญภัทรรักษา บิดาบังเกิดเกล้าของจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือที่เรารู้จักเขาว่า “ไผ่ ดาวดิน”

เร็วๆ นี้ ที่ waymagazine.org

เป็นนักเขียนเพียงคนเดียวของเว็บไซต์นี้ (แหงละ) เป็นมนุษย์ที่ชอบบันทึกเรื่องราวเอาไว้ เนื่องจากไม่ถนัดในการจดใส่กระดาษ จึงมักเขียนไว้ในโลกออนไลน์ บางเรื่องผิด บางเรื่องถูก แต่บันทึกความทรงจำจะช่วยตักเตือนเรา