ตระกูล “โพธิสาร” มาจากไหน

ผมไม่น่าจะสงสัยเท่าไหร่ หากนามสกุลนั้นตกทอดมาจากคนไม่กี่ครอบครัว มีคนใช้ไม่กี่คน ความสลักสำคัญก็คงไม่มีอะไรมากกว่ามีนามสกุลเพื่อให้จดจำและจำแนกแยกแยะบุคคลเฉยๆ แต่สิ่งที่ผมพบมันมีข้อสงสัยบางประการที่ต้องสืบเสาะค้นหา

เดิมทีตระกูลโพธิสารที่สัมพันธ์กับผมโดยตรงไล่เรียงไปได้แค่ อ.ไพรบึง และ อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ ย่านนั้นหากคนแปลกหน้าไปถามหาคนนามสกุลโพธิสารสุ่มสี่สุ่มห้า อาจสร้างภาระให้ชาวบ้านชาวเมืองต้องซักไซ้ไล่เรียงเพื่อให้ระบุชื่อหน้าให้แม่นกว่านี้ เพราะ “โพธิสาร” มันเยอะเหลือเกิน

“โพธิสาร” จึงควรมีที่มา

ค้นดูแล้วพบว่ามีชื่อของพระยาโพธิสาลราชเป็นราชวงศ์ตั้งแต่คราวล้านช้าง สมัยกรุงศรีอยุธยา ถนนเส้นหนึ่งใน อ.เมือง จ.ขอนแก่น มีชื่อว่า “ถนนโพธิสาร” และถนนอีกเส้นที่ผมผ่านประจำใน อ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ ก็มีชื่อเดียวกันว่า “ถนนโพธิสาร”

ไม่เพียงเท่านั้น โรงเรียนแถวตลิ่งชันชื่อว่า “โพธิสารพิทยากร” ขณะที่พระครูโพธิสารประสาธน์ ก็เป็นพระนักพัฒนายุค 2470 กว่าๆ ที่คนนับถือบูชากระทั่งนำมาสู่การตั้งชื่อถนนและซอยโพธิสาร ย่านพัทยา อ.บางละมุง จ.ชลบุรี

ย่อหน้าก่อนนี้พอจะเห็นจุดเชื่อมโยง แต่ยอมรับว่าย่อหน้าถัดมาออกจากห่างและหาจุดต่อไม่เจอ

ที่บอกว่าชื่อถนนในกาฬสินธุ์และขอนแก่นดูจะเชื่อมโยงได้ ก็ต้องขีดเส้นไปหากรณีสมัยพระพรหมราชวงศา (กุทอง) เจ้าเมืองอุบลราชธานีคนที่ 3 ที่ต้องการตั้งเมืองใหม่ในหัวเมืองลาวตะวันออก จึงส่งบุตร 3 คน หนึ่งในนั้นท้าวโพธิสาร ผู้เป็นอุปฮาดให้ไปสำรวจพื้นที่เพื่อสร้างเมืองใหม่กระทั่งกลายเป็นเมืองพิมูลมังษาหาร (อ.พิบูลมังสาหาร ในปัจจุบัน) ส่วนอีกสองเมืองคือ ตระการพืชผล และมหาชนะชัย (ปัจจุบันคือ จ.ยโสธร)

ทั้งหมดเกิดขึ้นราวพุทธศักราช 2406 หรือสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4

ต่อเมื่อรัชกาลเปลี่ยนเป็นสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เกิดกลุ่มกบฎผู้มีบุญ (ผีบุญ) ในปี 2444-2445 ปรากฎหลักฐานทางประวัติศาสตร์ว่าการก่อกบฎที่เขมราฐครานั้นนำมาสู่การฆ่าท้าวกุลบุตร และท้าวโพธิสาร ขณะเป็นเจ้ากรมการเมือง เพราะไม่ยอมเข้ากับกลุ่มองค์มั่นผู้เป็นฝ่ายกบฎ

ห้วงเวลาเดียวกันนั้นมีกบฎกลุ่มบุญจันเมืองขุขันธ์ ผู้มีบุญอีสานที่ใหญ่ที่สุดด้วยจำนวนสมาชิกกว่า 6,000 คน

กลุ่มบุญจันมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่ อ.ขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ และพื้นที่ทำงานก็กว้างไปถึง อ.ขุนหาญ ในปัจจุบัน ความเข้มแข็งของกลุ่มสร้างความวิตกให้แก่กรมขุนสรรพสิทธิประสงค์ข้าหลวงต่างพระองค์สำเร็จราชการมณฑลอีสานเป็นอย่างยิ่ง กระทั่งมีการส่งโทรเลขไปถวายรายงานให้รัชกาลที่ 5 ทรงทราบ จึงนำมาสู่การปราบกบฎเมืองขุขันธ์ ซึ่งความพ่ายแพ้เป็นของบุญจันบุตรของเจ้าเมืองขุขันธ์และลูกน้องที่ถูกตัดหัวเสียบประจานกลางเมืองอันเคยเป็นที่มั่น

ผมจะไม่ลงรายละเอียดเรื่องกบฎผู้มีบุญมากไปกว่านี้ แต่ที่ไล่เรียงมาเพื่อจะทำให้เห็นว่าเส้นทางของสายตระกูลมีความเป็นไปได้ว่า “โพธิสาร” ที่เป็นรากเหง้าของผมอาจเดินทางมาแบบนี้ และข้องแวะกับเรื่องกบฎผีบุญแบบที่ผมไม่ทราบมาก่อน

อาจจะเพราะเหตุผลกลใดบางประการ ท้าวโพธิสารน่าจะเกี่ยวดองหนองยุ่งกับผู้คนในมณฑลอีสานไม่มากก็น้อย กระทั่งได้เห็นอิทธิพลของชื่อสู่นามสกุลดังที่เห็น

จากพิบูลมังสาหาร เขมราฐ สู่ขุขันธ์ ไปขุนหาญ ไพรบึง กมลาไสย ขอนแก่น น่าจะมีความเป็นไปได้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

กระนั้นที่ว่ามาก็อาจจะผิด เพราะเท่าที่ผมทราบก็คือ “นายโกวิท โพธิสาร” ผู้อาจสืบราชสกุลนั้นยากจนข้นแค้นตั้งแต่ลืมตาดูโลกกระทั่งปัจจุบัน ไม่รู้ว่าทรัพย์ศฤงคารถูกซุกซ่อนไว้ในไหลูกใด ข้าพเจ้าจนใจที่จะถามทวง

เป็นนักเขียนเพียงคนเดียวของเว็บไซต์นี้ (แหงละ) เป็นมนุษย์ที่ชอบบันทึกเรื่องราวเอาไว้ เนื่องจากไม่ถนัดในการจดใส่กระดาษ จึงมักเขียนไว้ในโลกออนไลน์ บางเรื่องผิด บางเรื่องถูก แต่บันทึกความทรงจำจะช่วยตักเตือนเรา