วันที่หนี้ กยศ. เหลือศูนย์บาท

2545 คือ พุทธศักราชที่เริ่มเป็นหนี้ด้วยชื่อและนามสกุลของตัวเอง
19 ปี คือ ระยะเวลาที่เริ่มเป็นหนี้จนถึงวินาทีนี้
203,580 บาท คือจำนวนเงินกู้ทั้งหมด
4,812.49 บาท คือจำนวนเงินก้อนสุดท้ายที่เพิ่งจ่ายหนี้ไป
0 คือตัวเลขคงค้างของหนี้ทั้งหมดที่ผมข้องแวะกับ กยศ.

หลังเอนทรานซ์ติด นางจันดีทุบกระปุกแล้วยัดเงิน 6 พันบาทใส่มือ จากนั้นก็หายไปเลยตลอดระยะเวลา 4 ปีในมหาวิทยาลัย หากไม่มี กยศ. ผมคงจะกระเสือกกระสนดิ้นรนอย่างหนักเพื่อให้เรียนจบ ไหนจะค่าเทอม ไหนจะค่ากินค่าอยู่ ของเหล่านี้คือสิ่งที่ต้องจ่ายทั้งนั้น

การศึกษาพอจะมีข้อดีอยู่บ้าง เมื่อเรียนจบ ผมพอจะทำมาหากินได้ และมีสติปัญญาที่จะดำรงชีวิตอยู่อย่างมั่นคงก็เพราะการร่ำเรียน เงินสองแสนที่เป็นหนี้หากคิดในเชิงเศรษฐศาสตร์นั้นเรียกว่าคุ้มเกินคุ้ม นอกจากมีเงินเดือนให้ใช้จ่ายเลี้ยงตัวเองตลอดระยะเวลา 15 ปีหลังจบมหาวิทยาลัย เรี่ยวแรงที่ลงไปก็น่าจะช่วยเหลือเพื่อนพ้องญาติพี่น้องได้อยู่เนืองๆ – ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

เหล่านี้คือสิ่งที่การศึกษา return ผลกำไรเชิงเศรษฐกิจมาให้

แต่ก็นั่นแหละ วิเคราะห์ต่ออีกสักบรรทัด กำไรเหล่านั้นก็ส่งผลพลอยได้ให้ชาติบ้านเมืองดีขึ้นตามไปด้วย ข้อนี้คงไม่มีใครเถียงกระมัง

แต่ประเด็นก็คือ ในเมื่อการลงทุนกับการศึกษานั้นเป็นสิ่งที่คุ้มค่าถึงเพียงนี้ ทำไมเรายังต้องผลักภาระให้ลูกชาวบ้านหลานชาวเมืองต้องจ่ายเงินมากมายเพื่อให้ได้ร่ำเรียน กรุณาอย่าคิดว่าเงินแสนสองแสนเป็นเรื่องจิ๊บจ๊อย เพราะบริบทของมันเป็นเช่นนี้

นายโกวิท โพธิสาร ในวัย 17 ปี เริ่มเป็นหนี้ก้อนแรก
นายโกวิท โพธิสาร ในวัย 21 ปี เป็นหนี้ 200,000 บาทเมื่อจบปริญญาตรี
ตัวเลขนี้เกิดขึ้นโดยใช้ระยะเวลาเพียง 4 ปีเท่านั้น

การเรียนจบมหาวิทยาลัยพร้อมหนี้ 2 แสนไม่ใช่เรื่องบันเทิงแต่อย่างใด

แหงละ การที่เจ้าหนี้อะลุ่มอล่วยด้วยการยอมให้เป็นหนี้ยาวนานเกือบ 2 ทศวรรษ ย่อมดูเหมือนจะเป็นการดี แต่การได้ชื่อว่าเป็นหนี้เกือบ 2 ทศวรรษก็ไม่ใช่เรื่องสนุก

โดยหลักการแล้ว แรงงาน 1 คน เลี้ยงครอบครัวอีก 2-3 คนได้ และหากใครสักคนในครอบครัวมีเงินเดือนประจำ ภายใน 1-2 รุ่น ครอบครัวจะขยับฐานะเลื่อนชั้นทางเศรษฐกิจได้อย่างมั่นคง นักเศรษฐศาสตร์ต่างรู้สมการนี้ แต่ประเทศที่กำลังหายใจอยู่นี่ก็ยังทำให้การเรียนฟรีเป็นเรื่องสมมติ

ใครบางคนอาจจะชูแขนเหยียด​จั๊กกะแร้เถียงคอเป็นเอ็นว่า งบปี 2565 จำนวน 332,398 ล้านบาท ที่กระทรวงศึกษาธิการได้รับนั้นมากที่สุดเลยนะไอ้ทิด แต่ขอโทษ ช่วยกลับไปดูหน่อยว่ารายจ่ายประจำคิดเป็นสัดส่วนสักกี่เปอร์เซ็นต์ หากได้เห็นแล้วจะเข้าใจว่าทำไมมันเหลือมาพัฒนาการศึกษาได้น้อยนิดเสียเหลือเกิน

ผมเข้าใจดีว่าเงื่อนไขของการบริหารประเทศนั้นเป็นเช่นไร แต่หากบ้านเมืองยังไม่ฝันและผลักให้ไปไกลกว่านี้ การเรียนฟรีก็น่าจะมีอยู่แค่ในมหาวิทยาลัยทิพย์เท่านั้นเอง

หากปล่อยให้เรื่องนี้ยืดเยื้อยาวนาน คนจนจะยิ่งยากจน เด็กที่ยากจนจะเข้าไม่ถึงการศึกษา ทรัพยากรบุคคลที่มีปัญหาจะเรียกร้องงบประมาณมหาศาลคอยตามอุด ความเหลื่อมล้ำในสังคมจะยิ่งฉีกห่างถ่างกว้างออกไปอีก พอจะคิดตรรกะเช่นนี้ออกไหม

ออ.. เว้นเสียแต่เคยชินกับการแก้ปัญหาด้วยการบริจาค อันนั้นก็ตัวใครตัวมันแล้วกันครับ

เป็นนักเขียนเพียงคนเดียวของเว็บไซต์นี้ (แหงละ) เป็นมนุษย์ที่ชอบบันทึกเรื่องราวเอาไว้ เนื่องจากไม่ถนัดในการจดใส่กระดาษ จึงมักเขียนไว้ในโลกออนไลน์ บางเรื่องผิด บางเรื่องถูก แต่บันทึกความทรงจำจะช่วยตักเตือนเรา