น้ำท่วมไม่ถึงโขง

มีคนอยู่ในมหานครนับสิบล้านคน น้ำท่วมน้ำแล้งย่อมสำคัญแน่ ไม่ผิดหรอกที่เราจะหงุดหงิดและเรียกร้องให้เกิดการแก้ปัญหาทั้งระบบ เพื่อไม่ต้องเจอสภาวะเช่นนี้อีก แต่มหานครและเมืองใหญ่ไม่ได้เป็นพื้นที่ในเส้นแวงเส้นรุ้งแห่งเดียวที่ประสบปัญหาเรื่องน้ำ

จากหิมาลัยถึงเวียดนาม ระยะทางกว่า 4,300 กิโลเมตรคือความยาวของแม่น้ำโขง เกิดพื้นที่ลุ่มน้ำกว่า 750,000 ตารางกิโลเมตร บัดนี้มีโครงการเขื่อนกั้นกว่า 23 แห่ง ซึ่งเกี่ยวพันกับคน 6 ประเทศ

พื้นที่ลุ่มน้ำโขง 750,000 ตารางกิโลเมตร เทียบกับพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งมี 1,569 ตารางกิโลเมตร ใหญ่กว่ามหานครถึง 483 เท่า ตัวเลขนี้อธิบายถึงผลกระทบต่อคนโดยตรงมากเกินกว่าจะจินตนาการเรื่องจำนวนชีวิต

แต่จำนวนเขื่อน 23 แห่ง ซึ่งขณะนี้ดำเนินการเสร็จและเปิดใช้งานไปแล้ว 11 แห่ง กำลังสร้างผลกระทบเชิงนิเวศอย่างรุนแรง เมื่อเขื่อนเปลี่ยนแม่น้ำให้กลายเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้า

การเปิดปิดประตูเขื่อนทำให้เกิดสภาวะน้ำแห้งในฤดูฝน และน้ำท่วมในฤดูแล้งมาหลายปีแล้ว ทั้งยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อสิ่งมีชีวิตโดยเฉพาะพันธุ์ปลา 1,300 ชนิดที่ต้องพึ่งพิงการไหลเวียนโดยอิสระของแม่น้ำมามากกว่า 25 ปี นับจากเขื่อนม่านวาน (Manwan) ในมณฑลยูนนานนับหนึ่งเมื่อปี 2539 และจีนนี่เองที่เป็นตัวการหลักของปัญหา เพราะ 10 เขื่อนแม่น้ำโขงตั้งอยู่ในแผ่นดินจีน ส่วนบรรดา 5 ประเทศที่เหลือนอกจากจะทำเป็นเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ไม่มีบทบาทการคัดง้างใดๆ ต่อพี่ใหญ่แดนมังกรแล้ว ยังเออออห่อหมกด้วยการเร่งสร้างเขื่อนอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง

คนที่ต่อสู้กับยักษ์ใหญ่กลับกลายเป็นชาวบ้านกลุ่มเล็กๆ ที่มิอาจเพิกเฉยต่ออนาคตของแม่น้ำ ทว่าไม้ซีกนอกจากงัดกับมังกรไม่ได้ ยังถูกรัฐไทยยักไหล่ไม่แยแสใดๆ ต่อสิ่งที่เกิดขึ้น

ดังเช่นกรณีที่ชาวบ้านลุ่มแม่น้ำโขงยื่นฟ้องการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กรณีซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรีโดยมิได้สนใจผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพทั้งในไทยและลาวที่ได้รับผลกระทบจากการลงทุนข้ามพรมแดน ล่าสุดในช่วงกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ศาลปกครองสูงสุดก็ยกฟ้อง

โดยอ้างว่าการดำเนินโครงการเพื่อทำสัญญาจัดซื้อขายไฟฟ้าโครงการไซยะบุรี มิได้กำหนดให้โครงการสัญญารับซื้อไฟฟ้าต้องดำเนินการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดส้อมก่อนดำเนินโครงการ ดังนั้น กฟผ. คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ กระทรวงพลังงาน และคณะรัฐมนตรี จึงไม่มีหน้าที่ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในเรื่องสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโครงการไซยะบุรีแต่อย่างใด

ผมคิดว่าที่ต้องเล่าเรื่องนี้มีประเด็นสำคัญที่ต้องคิดต่ออย่างน้อย 3 ประการ

หนึ่ง – ผังเมืองของมหานครคือปัญหาใหญ่ ผังเมืองของแม่น้ำก็เช่นกัน เมื่อใดก็ตามที่โครงการขนาดใหญ่ขวางสายน้ำ มันจะสร้างปัญหาตามมาเป็นโดมิโนเสมอ

สอง – ความทุกข์ร้อนของคนเมือง เป็นชะตากรรมร่วมที่ควรพาเราไปมองพื้นที่อื่นๆ ด้วย ระหว่างที่เราต้องลุยน้ำกลางกรุง ไม่ควรจะมีใครถูกปล่อยให้ลอยคอกลางแม่น้ำโขง

สาม – เราก่นด่าผู้นำของประเทศ บ่นเบื่อผู้ว่าฯ ของกรุงเทพฯ ได้เพราะคนเหล่านี้คือเจ้าภาพหลักที่ต้องรับผิดชอบโดยตรง แต่สำหรับกรณีแม่น้ำโขง ดูเหมือนนอกจากเราจะไม่ชี้หน้าด่าใครแล้ว ยังเพิกเฉยนิ่งเงียบ ราวกับไฟฟ้าที่ใช้อยู่มันลอยมาจากอากาศ และปราศจากความทุกข์ร้อนของคนลุ่มแม่น้ำ

เป็นนักเขียนเพียงคนเดียวของเว็บไซต์นี้ (แหงละ) เป็นมนุษย์ที่ชอบบันทึกเรื่องราวเอาไว้ เนื่องจากไม่ถนัดในการจดใส่กระดาษ จึงมักเขียนไว้ในโลกออนไลน์ บางเรื่องผิด บางเรื่องถูก แต่บันทึกความทรงจำจะช่วยตักเตือนเรา