Application ปกป้องทรัพยากรสิ่งแวดล้อม

เครือข่ายประมงพื้นบ้าน อ.สิชล, อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช และ กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้จัดทำแอพพลิเคชั่นบนเฟซบุค เพื่อชวนให้คนไทยร่วมเป็นกำแพงมนุษย์ปกป้องทรัพยากรสิ่งแวดล้อม โดยแอพพลิเคชั่นดังกล่าวชื่อว่า“รั้วมนุษย์” (Human Fence) ที่เปิดโอกาสให้ผู้เล่นร่วมลงชื่อและยืนจับมือเรียงกันเป็นรั้วมนุษย์แสดงอาณาเขตปกป้องอ่าวทองคำ ซึ่งเป็นทะเลที่มีความอุดมสมบูรณ์ ของจ.นครศรีธรรมราช ให้เป็นพื้นที่คุ้มครองแหล่งผลิตอาหาร ให้รอดพ้นจากอุตสาหกรรมพลังงานสกปรก ซึ่งจะมีผลกระทบที่รุนแรงต่อสุขภาพและการดำรงชีวิตของประชาชนในพื้นที่

จริยา เสนพงศ์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บอกว่า แอพพลิเคชั่นนี้ที่เราทำขึ้นมานี้เป็นมากกว่าเกมที่เราเล่นกัน เพราะผู้ที่เล่นเกมนี้มีส่วนสำคัญที่จะยืนอยู่ข้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับชุมชนอ่าวทองคำในการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติที่พวกเขาได้พึ่งพาอาศัยในการดำรงชีวิต และเพื่ออนาคตของคนรุ่นต่อไปที่จะยังมีทะเลที่อุดมสมบูรณ์ อีกทั้งเป็นการปกป้องแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญของประเทศไทย

“แอพพลิเคชั่นนี้ เมื่อเข้าไปผู้เล่นจะสามารถเลือกรูปแบบหมุดเพื่อเป็นตัวแทนของตัวเองและเลือกคำประกาศปกป้องอ่าวทองคำจากโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมสกปรกทั้งโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินและอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เพื่อนำมาปักลงบนแผนที่กูเกิลเอิร์ท (Google earth map) ที่จะบอกตำแหน่งว่าคุณได้ยืนอยู่ที่ตำแหน่ง ละติจูด ลองติจูด ที่เท่าไหร่ บนอ่าวทองคำ จากนั้นเมื่อผู้เล่นคนต่อไปเข้ามาร่วมลงชื่อก็จะปักหมุดต่อกันไปเรื่อยๆ โดยทุกๆ รายชื่อจะร่วมกันเป็นรั้วมนุษย์เพื่อล้อมอาณาเขตของอ่าวทองคำ”

จริยา บอกอีกว่า เป้าหมายสำคัญของการรณรงค์ครั้งนี้เพื่อต้องการให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกาศให้พื้นที่อ่าวทองคำเป็น “พื้นที่คุ้มครองแหล่งผลิตอาหาร” ตามกฎหมายแห่งแรกของประเทศไทยที่มาจากการผลักดันของประชาชน ดังนั้น แอพพลิเคชั่นนี้จึงถูกออกแบบให้รายชื่อและคำประกาศของผู้ที่เข้าไปเล่นส่งอีเมล์ไปถึง คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่จะสามารถทำให้ อ่าวทองคำเป็น “พื้นที่คุ้มครองแหล่งผลิตอาหาร” ได้ เพื่อปกป้องไม่ให้โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมสกปรกเข้ามาในพื้นที่อีก

สุพร โต๊ะเส็น ชาวบ้าน หมู่บ้านสระบัว อ.ท่าศาลา จ. นครศรีธรรมราช กล่าวว่า ประชาชนจำนวนมากได้อาศัยอ่าวทองคำที่มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรอาหารในการดำรงชีวิต การเกิดขึ้นของอุตสาหกรรมสกปรกขนาดใหญ่จะก่อมลพิษและส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของคนในชุมชน โดยเฉพาะอาชีพประมง เนื่องมาจากการปล่อยมลพิษและของเสียจากการพัฒนาโครงการดังกล่าว ย่อมส่งผลต่อการลดลงของสัตว์น้ำ การสูญเสียพื้นที่สาธารณะจากการกัดเซาะชายฝั่งที่เกิดขึ้นจากการเดินเรือขนาดใหญ่ และมลพิษเหล่านี้ยังเป็นอันตรายต่อสุขภาพประชาชน ทั้งหมดเหล่านี้เป็นแรงผลักให้ประชาขนในพื้นที่ต้องการให้มีการประกาศให้พื้นที่อ่าวทองคำ เป็นเขตคุ้มครองแหล่งผลิตอาหาร และคัดค้านโครงการการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมพลังงานสกปรกทุกรูปแบบ

กรีนพีซขอเชิญชวนคนไทยทุกคนร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการหยุดโศกนาฏกรรมทางสิ่งแวดล้อม โดยเข้ามาร่วมเป็น “รั้วมนุษย์” ได้ที่ https://apps.facebook.com/humanfence/
หรือ www.facebook.com/goldenbaythailand

เนื้อหา/รูปภาพโดย กรีนพีซ

 

human fence1 human fence 12 human fence 10 human fence 9 human fence 8-crop human fence 7 human fence 6 human fence 5 human fence 4

เป็นนักเขียนเพียงคนเดียวของเว็บไซต์นี้ (แหงละ) เป็นมนุษย์ที่ชอบบันทึกเรื่องราวเอาไว้ เนื่องจากไม่ถนัดในการจดใส่กระดาษ จึงมักเขียนไว้ในโลกออนไลน์ บางเรื่องผิด บางเรื่องถูก แต่บันทึกความทรงจำจะช่วยตักเตือนเรา